วิธีการฝึกหัดร้องเพลงอีแซว
ขอบข่ายในการเรียนรู้และการฝึกหัด ขั้นพื้นฐาน
1.ประวัติความเป็นมาของเพลงอีแซว
2.ลักษณะของเพลงอีแซว
3.ฝึกหัดเพลงตามขั้นตอน
4.บทร้องเหลงอีแซว
5.การอนุรักษ์ สืบสานศิลปะการแสดงเพลงอีแซว
1.ประวัติความเป็นมาของเพลงอีแซว
เพลงอีแซว เป็นเพลงประเภทหนึ่งในจำนวนเพลงพื้นบ้านหรือเพลงชาวบ้าน ซึ่งเป็นเพลงที่ชาวบ้านร้องเล่นรื่นเริงสนุกสนานกัน เมื่อหญิงชายมีโอกาสมาพบปะกันเพื่อช่วยกันทำงาน ในนาในไร่ ในลานบ้าน หรือร้องเล่น เนื่องในเทศกาล งานนักขัตฤกษ์ เช่น ตรุษ สงกรานต์ ลอยกระทง ทอดกฐิน ผ้าป่า และไหว้พระประจำปีโดยเฉพาะงานปิดทองหลวงพ่อโต ที่วัดป่าเลไลยก์ มีอายุระหว่าง 80-100 ปี ล่วงมาแล้ว
2.ลักษณะของเพลงอีแซว
2.1การแต่งกายการแต่งเนื้อแต่งตัวของเพลงอีแซว คือนุ่งโจงกระเบนสำหรับฝ่ายชาย ใส่เสื้อคอกลมแขนสั้น ลายดอกสีสด ๆ นุ่งผ้าโจงกระเบนสีต่างๆ นุ่งทับเสื้อที่เอวมีผ้าขาวม้าคาด นอกจากนั้นอาจมีเครื่องประดับ เช่นแขวนพระเครื่องห้อยคอ ส่วนเครื่องแต่งตัวฝ่ายหญิง ใส่เสื้อคอวีหรือคอปก หรือเสื้อผ้าลูกไม้ แขนกระบอก ปล่อยชายเสื้อทับผ้านุ่ง นุ่งโจงกระเบน คาดเข็มขัด อาจมีเครื่องประดับ ได้แก่ ต่างหู สายสร้อย
2.2การร้องเพลงอีแซว
2.2.1 การร้องเกริ่น ขึ้นต้นเป็นเอกลักษณ์ของเพลง
เอ่อ เอ้อ เอ๊อ... เอ่ย เอิง เง้อ... เอ่อ เอิ้ง เงย
(เนื้อร้อง) บรรจงจีบสิบนิ้ว ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ้ย) แล้วทั้งคู่
เชิญรับฟังกระทู้ เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) แล้วเพลงไทย
2.2.2 ลูกคู่ หรือคนร้องรับมีหน้าที่คอยร้องรับเวลาลงเพลง จะร้องซ้ำ 3 คำสุดท้าย หากคำร้องไม่ครบให้ใส่คำว่า “แล้ว หรือ ว่า” เพิ่มเข้าไป หลังคำเอื้อนเสียงลงเพลง เช่น
ถ้าขาดผู้ส่งเสริม เพลงไทยเดิมคงสูญ (เอิง เงอ เอ้ย) แล้วคงสูญ
ถ้าพ่อแม่เกื้อกูล ลูกก็อุ่นหัวใจ (เอ่อ เอ้อ เอ๊ย) อุ่นหัวใจ
2.3การรำประกอบการแสดง
การรำ รวมความไปถึงทำท่าทางกอบการแสดง โดยไม่มีท่าทางกำหนดตายตัว แต่จะรำไปตามบทเพลง (รำแบบตีบท) หรืออาจจะรำลอย ๆ แบบไม่มีความหมายก็ได้
2.4เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะในเพลงอีแซว ได้แก่
2.4.1 ตะโพนไทย ตีหน้าทับลาวหรือเสียงสนุกสนาน
(ติง - โจ๊ะ - ติง - ติง - - ติง ทั่ม - ติง ทั่ม)
2.4.2 ฉิ่ง ทองเหลือง ตีจังหวะเร็ว ชั้นเดียว
2.4.3 กรับ ไม้เนื้อแข็ง ตีตามจังหวะลงของเสียงฉิ่ง
2.5การลำดับเรื่อง แบ่งออกเป็น 4 บท หรือ 5 บทก็ได้ คือ
2.5.1 บทเกริ่น (เป็นการร้องปลอบใจ)ประกอบด้วยบทร้องไหว้พระ ไหว้บิดา มารดาไหว้ครู
2.5.2 บทประ (เป็นการปะทะคารมระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง)เป็นการร้องท้าทายกัน
2.5.3 บทดำเนินเรื่อง เป็นการกำหนดเรื่องขึ้นมาว่า อาจเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในปัจจุบัน
2.5.4 บทจาก หรือร้องลา เป็นการแสดงความรักอาลัย หรือร้องให้พรผู้ชม
2.6 สถานที่และโอกาสในการแสดง
สถานที่หรือเวทีในการแสดงเพลงอีแซวในสมัยก่อนไม่มีการพิถีพิถันเรื่องสถานที่แสดง ไม่จำเป็น ต้องมีเวที มักใช้สถานที่ลานวัดกว้าง ๆ เป็นที่แสดงเพลงอีแซว เล่นกันที่ใต้ต้นโพธิ์วัดป่าเลไลยก์ ส่วนในปัจจุบันหาชมเพลงอีแซวได้ในทุกโอกาส ยกเว้นงานมงคลสมรส
3.การฝึกหัดเพลงตามขั้นตอน
ข้อเสนอแนะในการฝึกหัดเพลงอีแซว ควรแบ่งเป็นขั้นตอน ดังนี้
1.ขั้นร้องเกริ่น ขึ้นต้นเพลงร้องตามทำนองเพลงอีแซวขั้นร้องลงเพลงร้องรับ (สำหรับลูกคู่)
2.ขั้นฝึกหัดรำ ทำท่าทางประกอบการร้อง (ผู้ร้องนำ และผู้แสดงประกอบ)
3.ขั้นฝึกหัดพูดโต้ตอบ (เป็นการปูเนื้อความไปสู่สาระที่จะนำเสนอ ในแต่ละตอน)
4.ขั้นฝึกหัดร้อง และรำ (บังคับเสียงร้องให้มีเสียงสูง ต่ำ และรำทำท่าทางตามบทร้อง)
5.ขันฝึกหัดให้จังหวะ ร้อง รำ และพูดโต้ตอบ (ฝึกหัดให้ทุกคนได้ผ่านประสบการณ์รวม)
6.ขั้นฝึกหัดการแสดงตามขั้นตอน (ไหว้ครู ออกตัว,เพลงที่เป็นประโยชน์, เพลงประ, เพลงลา)
4.บทร้องเพลงอีแซว
คำประพันธ์ (ฉันทลักษณ์) ในบทเพลงอีแซว เป็นกลอนที่ลงท้ายด้วยสระตัวเดียวกันตลอดบท (กลอนหัวเดียว) เช่น ร้องลง ไล ก็ ไล ทุกคำลง คล้ายกับเพลงฉ่อย ส่วนลูกคู่ซึ่งจะร้องรับโดยร้องซ้ำ 3 คำท้าย ของบทร้องรับนั้น ๆ เมื่อผู้ร้องนำทอดเสียงเอื้อนลงเพลง การลงเพลงมี 2 แบบ คือ ลงปิด เป็นการร้องลงทั้ง 2วรรค แสดงว่าจะให้ผู้อื่นมาร้องต่อ ส่วนการลงเปิดเป็นการลงเพลงเฉพาะวรรคหน้า แสดงว่าผู้ร้องนำคนเดิมจะร้องต่อไปหรืออาจะให้คนต่อไปร้องก็ได้
5.การอนุรักษ์ สืบสานศิลปะการแสดงเพลงอีแซว
1.รักษาเพลงอีแซวไว้ให้คงเดิม จะต้องช่วยกันสืบค้นเพื่อจดบันทึก และทำความเข้าใจวรรณกรรมพื้นบ้าน
2.ระวังมิให้เพลงอีแซวต้องตกต่ำขาดความนิยม จะต้องให้การสนับสนุนให้โอกาสศิลปินพื้นบ้านได้แสดง ได้นำเสนอผลงาน
3.ป้องกันมิให้เพลงอีแซวต้องสูญสิ้นไป จะต้องมีการสืบทอดโดยการฝึกหัดให้กับคนรุ่นใหม่เอาไว้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ที่มาhttp://www.gotoknow.org/blogs/posts/112741
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น